สถานที่ท่องเที่ยว

Image

จุดชมวิว “ผาโต๊ะบู” เป็นหน้าผาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 60 เมตร เส้นทางเดินขึ้นไปตามแนวป่าดิบแล้ง ใช้เวลาเดินขึ้นจุดชมวิวประมาณ 20 นาที อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ เป็นจุดชมทิวทัศน์ของเกาะบริเวณชายหาด

อ่าวตะโละวาว อยู่ทิศตะวันออกของเกาะ เป็นจุดที่สามารถชมดวงอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามอีกมุมหนึ่ง เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ ตต.1 (ตะโละวาว) พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งนิคมฝึกอาชีพสำหรับนักโทษ กักกันและนักโทษอุกฉกรรจ์ ปัจจุบันทางอุทยานฯได้จำลองอาคารสถานที่ที่เคยอยู่ในนิคมฝึกอาชีพ เช่น บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนของนักโทษ โรงฝึกอาชีพ หลุมศพ 700 ศพ ไว้ในบริเวณดังกล่าว

ถ้ำจระเข้ ถ้ำ จระเข้อยู่ปลายคลองพันเตมะละกา ใช้เรือพาดหางไปจอดท่าเทียบเรือหน้าถ้ำ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปตามสะพานไม้ที่ทอดผ่านป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์จนถึงถ้ำ จระเข้ เพื่อเข้าไปชมความงามของหินงอกหินย้อยและเสาหิน สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการพายเรือแคนู/คยัค คลองพันเตมะละกาก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาด

อ่าวจาก เป็นอ่าวเล็กๆ ติดต่อกับอ่าวพันเตมะละกา บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะต่อการพักผ่อน

อ่าวเมาะและ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 4 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด และดงมะพร้าวสวยงาม เงียบสงบ มีบังกะโลเหมาะสำหรับพักผ่อน เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว

อ่าวสน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 8 กิโลเมตร เป็นอ่าวรูปโค้งที่มีหาดทรายสลับกับหาดหิน และเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล มีจุดกางเต็นท์ บริการอาหารและเครื่องดื่ม มีน้ำตกขนาดเล็กคือ น้ำตกลูดู และน้ำตกโละโป๊ะ เหมาะสำหรับเดินป่าศึกษาธรรมชาติ

อ่าวตะโละอุดัง อยู่ทางทิศใต้ของเกาะ ห่างจากเกาะลังกาวี 8 กิโลเมตร จุดเด่นคือ มีหินซีกขนาดใหญ่ตั้งเด่นเป็นสัญลักษณ์ด้านหน้าอ่าว มีสะพานสำหรับเรือจอด และเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ ตต.2 (ตะโละอุดัง) ในอดีตเคยเป็นที่กักกันนักโทษการเมือง กลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช และกบฏนายสิบ

น้ำตกลูดู เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงาม อยู่ห่างจากอ่าวสนประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งจากบริเวณอ่าวสนมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปยังน้ำตกลูดู
ถ้ำจระเข้ เป็นถ้ำที่มีความลึกประมาณ 300 เมตร ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีลักษณะแตกต่างกันไป  การเดินทางไปถ้ำจระเข้ต้องนั่งเรือหางยาวไปตามคลองพันเตมะละกา ซึ่งอุดมไปด้วยป่าชายเลนที่มีไม้โกงกางจำนวนมากตลอดสองฝั่งคลองโดยใช้เวลา ล่องเรือประมาณ 20 นาทีและใช้เวลาชมถ้ำประมาณหนึ่งชั่วโมง  ติดต่อได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานฯ  ผู้ที่จะเที่ยวชมภายในตัวถ้ำควรนำไฟฉายไปด้วย

ประวัตเกาะตะรุเตา

Image

ประวัตเกาะตะรุเตา

“ตะรุเตา” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายู แปลว่า มีอ่าวมาก ตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดียในท้องที่อำเภอเมืองจังหวัดสตูลด้านใต้ของเขตอุทยานแห่งชาติห่างจากชายแดนไทยมาเลเซียเพียง4.8กิโลเมตรอุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็นสถานที่ท่อง

เที่ยวในความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวทั่วไปเนื่องจากเป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ทั้งบนเกาะและในน้ำมีป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด

ในน้ำก็งดงามด้วยกลุ่มปะการังหลากสีสวยสดจนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วโลกซึ่งประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 51 เกาะ รวมทั้งพื้นที่บนเกาะและทะเลประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร

พุทธศักราช2479มีการประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้ายกรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะสมซึ่งในที่สุดได้เลือกเกาะตะรุเตาและจัดตั้งขึ้น
เป็นทัณฑสถานโดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2480 กลุ่มบุกเบิกของกรมราชทัณฑ์ ภายใต้การนำของขุนพิธานทัณฑทัย ได้ขึ้นสำรวจเกาะตะรุเตาบริเวณอ่าวตะโละอุดังและอ่าวตะโละวาว เพื่อจัดทำเป็น “ทัณฑสถาน” โดยฟันฝ่าอุปสรรคทางธรรมชาตินานัปการเป็นเวลา 11 เดือน งานบุกเบิกจึงสิ้นสุดลง หลังจากเดือนมิถุนายน 2481 เกาะตะรุเตาก็เป็นทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้ เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2482 ปลายปี พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดี กบฏบวรเดช (พ.ศ.2476) และกบฏนายสิบ (พ.ศ.2478) จำนวน 70 นาย มายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง
จากสงครามสงครามเอเชียบูรพา (พ.ศ.2484-2488) เกาะตะรุเตาถูกตัดขาดออกจากแผ่นดินใหญ่ เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ยา และเครื่องใช้ต่างๆ ต้นปี พ.ศ.2487 ผู้คุมนักโทษได้ทำตัวเป็นโจรสลัดเข้าปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าชาวไทยและต่างประเทศที่แล่นแผ่นไปมาในที่สุดรัฐบาลไทยและทหารอังกฤษได้เข้าปราบโจรสลัด

เกาะตะรุเตาสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2489 และอีกสองปีต่อมากรมราชทัณฑ์ จึงได้ยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เสนอให้จัดที่ดินบริเวณเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะอื่นๆ ในบริเวณเดียวกันเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสภาบริหารคณะปฏิวัติได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2515 ชอบในหลักการ ดังนั้นในเดือนมีนาคม 2516 นายเต็ม สมิตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ป่าไม้ นายไพโรจน์ สุวรรณากร หัวหน้ากองอุทยานแห่งชาติ และคณะ จึงได้เดินทางไปสำรวจเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง-ราวี และหมู่เกาะใกล้เคียง ปรากฏว่าเป็นหมู่เกาะที่มีความสวยงาม อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ เหมาะแก่การจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2516 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2516 ให้ดำเนินการจัดตั้งเกาะตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติโดยเร็ว
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 960/2516 ลงวันที่ 11 กันยายน 2516 ให้ นายบุญเรือง สายศร นักวิชาการป่าไม้ตรี และนายปรีชา รัตนาภรณ์ นักวิชาการป่าไม้ตรี ไปดำเนินการจัดตั้งเกาะดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ และกรมป่าไม้ได้ดำเนินการขอถอนสภาพจากการเป็นเขตหวงห้ามเพื่อการราชทัณฑ์ใน บริเวณที่ดินดังกล่าว จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะอื่นๆ ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล รวมเนื้อที่ประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 91 ตอนที่ 68 ลงวันที่ 19 เมษายน 2517 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 8 ของประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2525 อุทยานแห่งชาติตะรุเตาได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้เป็น มรดกแห่งอาเชียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves)